การพลิกตะแคงตัวในผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ นับเป็นความยากลำบากของทั้งพยาบาลและญาติผู้ดูแล และหากทำการพลิกตะแคงตัวผิด ยิ่งเป็นการเพิ่มความรุนแรงของปัญหาเรื่องแผลกดทับ. นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับ ผศ.จิณพิชญ์ชา มะมม อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยเป็นพยาบาลและได้คลุกคลีอยู่กับปัญหาเหล่านี้ในโรงพยาบาล ได้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อรองรับสำหรับผู้ป่วยแผลกดทับและลดภาระของผู้ดูแล ซึ่งทำงานร่วมกับทีมคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “ปกติแล้วการจัดท่าและพลิกตะแคงตัวผู้ป่วย เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันการเกิดแผลกดทับ ซึ่งการจัดท่าที่มีประสิทธิผลในการป้องกันและจัดการกับแผลกดทับ ในท่านอน ควรจัดท่าศีรษะสูงไม่เกิน 30 องศา และต้องมีการพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมงและต้องตะแคงตัวซ้ายขวาไม่เกิน 30 องศา จะช่วยให้ออกซิเจนมาเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณปุ่มกระดูกโคนขา ได้ดีกว่าท่านอนตะแคง 60 และ 90 องศา ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับการจัดท่าพลิกตะแคงตัวของผู้ดูแล” สำหรับผู้ป่วยที่นอนหงาย จุดรับน้ำหนักของร่างกาย ได้แก่ ท้ายทอย สะบัก ศอก กระเบนเหน็บ และส้นเท้า บริเวณที่อาจเกิดแผลกดทับได้ คือ ส่วนนูนของท้ายทอย ส่วนนูนของกระดูกสะบัก หัวกระดูก ข้อศอก กระดูกกระเบนเหน็บ และส้นเท้า ส่วนผู้ป่วยที่นอนตะแคง จะเกิดแผลกดทับที่บริเวณ ใบหู ปุ่มกกหู ปุ่มกระดูกไหล่ ซี่โครง ปุ่มกระดูกโคนขา ปุ่มกระดูกต้นขา และตาตุ่ม ซึ่งเมื่อถูกกดทับเป็นเวลานาน ทำให้เลือดไม่สามารถผ่านเข้าไปเลี้ยงเซลล์ได้ จึงทำให้เซลล์เนื้อเยื้อตาย และกลายเป็นแผลในที่สุด ดังนั้นผู้ป่วยโดยเฉพาะที่ต้องนอนบนเตียงตลอด ควรพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการประดิษฐ์เตียงพลิกตะแคงตัวด้วยระบบไฟฟ้า ที่สามารถพลิกตะแคงตัวซ้ายและขวาระหว่าง 0 - 30 องศากับแนวระนาบ เพื่อป้องกันการเกิดแรงกดทับบริเวณปุ่มกระดูก และสามารถยกหัวเตียง 0 - 60 องศากับแนวระนาบเพื่อป้องกันการเกิดแรงกดทับบริเวณท้ายทอย ใบหู ใบหน้าและเพื่อยกศีรษะสูงเวลารับประทานอาหารหรือเวลาเปลี่ยนอิริยาบถพร้อมกับยกส่วนข้อพับเข่า 0 - 45 องศากับแนวระนาบ เพื่อป้องกันการเกิดแรงกดทับบริเวณใต้เข่า ข้อเข่า ส้นเท้า ตาตุ่ม ที่สามารถควบคุมรีโมทไฟฟ้า ให้อยู่ในระดับที่ถูกต้อง “ก่อนหน้าที่จะเป็นระบบไฟฟ้า จะเป็นเตียงแบบมือหมุน ซึ่งเรานำไปใช้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 15 ราย ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พบว่ามีอัตราการหายของแผลกดทับดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ใช้เตียงธรรมดา ต่อมาจึงได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ออกแบบให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการออกแบบเพื่อให้มีความสะดวก ปลอดภัยและมีต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก” อีกทั้งในงานวิจัยเตียงพลิกตะแคงตัวด้วยระบบไฟฟ้านี้ ยังช่วยลดแรงเฉือนอันเกิดจากการยกลากตัวผู้ป่วยเสียดสีกับเตียง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดแผลได้เช่นกัน ล่าสุดผลงานการวิจัยเรื่องนี้ได้รับรางวัลเหรียญทองและรางวัลพิเศษ ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในการประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 43 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ศึกษาวิจัยเพื่อตอบสนองว่าสามารถช่วยผู้ป่วยติดเตียงที่กลับไปอยู่บ้านได้มากน้อยเพียงใด ก่อนที่จะทำการขยายผลสิ่งประดิษณ์นี้ ซึ่งทางด้าน ผศ.จิณพิชญ์ชา ก็หวังว่างานวิจัยนี้จะขยายผลเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วย และลดภาระผู้ดูแล ซึ่งเป็นการคิดค้นและประดิษฐ์โดยฝีมือคนไทย มิใช่เป็นเพียงงานวิจัยที่ไม่ถูกพัฒนานำมาใช้จริง
1 Comment
|
|
HoursM-F: 7am - 7pm
|
Telephone+66-(0)-2564-3001 ถึง 9 ต่อ 3247
|
|