ผู้สูงอายุที่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสุขในการดำรงชีวิตประการหนึ่ง เพราะสามารถไปไหนมาไหนได้ด้วยตนเอง แต่ปัญหาของผู้สูงอายุที่เรามักจะพบกันทั่วไปคือ หลายคนไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง เมื่อเดินเองไม่ได้ จึงต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยการรอให้ผู้อื่นนำพาตนไปยังที่ต่างๆ ที่ต้องการจะไป แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่กว่านั้นคือ เมื่อผู้สูงอายุเดินเองไม่ได้ หลายคนก็กลายเป็นผู้ที่เกิดอาการหงุดหงิด จิตตก กังวล และฟุ้งซ่าน เนื่องจากไม่ได้ออกไปสัมผัสกับโลกภายนอกตามที่ตนเองต้องการจะได้พบได้เห็น คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลผู้สูงอายุ และผู้พิการ รวมถึงผู้ที่คิดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อดูแลกลุ่มบุคคลดังกล่าว จึงได้เชิญหน่วยงานที่มีงานด้านนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ และคนพิการเข้าร่วมประชุม โดยให้ความสนใจกับสิ่งประดิษฐ์ด้านเครื่องช่วยเดินสำหรับผู้สูงอายุ หรือ Space Walker ผลงานของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทีม Space Walker ซึ่งมีสมาชิกคือ นายวรัตถ์สิทธิ์เหล่าถาวร, นายรมณ์ พานิชกุล และ นายเมธาสิทธิ์ เกียรติ์ชัยภาผลงานนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการประกวด ITCi Award 2017 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาโครงการ คณะนักประดิษฐ์บอกถึงสาเหตุในการผลิตนวัตกรรมนี้ขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี สถิติปี ๒๕๕๘ มีประชากรผู้สูงอายุจำนวนร้อยละ ๑๑ ของประชากรทั้งหมด (ประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ คน) ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดในปี ๒๕๗๔ เนื่องจากมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ ๒๘ ของจำนวนประชากรทั้งหมด ดังนั้นเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและเพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้อย่างสมบูรณ์ จึงเกิดแนวคิดค้นคว้าสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีสิ่ “สเปซ วอล์กเกอร์” หรือเครื่องช่วยเดินสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากกลุ่มผู้สูงอายุแล้ว ยังมีกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และผู้พิการทางการเคลื่อนไหว มีจำนวนประมาณ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ คนซึ่งต้องการเครื่องมือเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกเช่นเดียวกัน โดยผู้สูงอายุผู้พิการ และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนใหญ่นอกจากจะสูญเสียความสามารถทางร่างกาย จึงมีข้อจำกัดในการเดินทางด้วยตนเอง ในขณะเดียวกัน จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ด้านการฟื้นฟูและกายภาพบำบัดในประเทศไทยมีอยู่จำกัด และมีค่าใช้จ่ายสูงในการทำงานด้านการฟื้นฟู เพราะปัจจัยหลักคือต้นทุนการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศมีราคาสูงมาก จึงส่งผลกระทบให้ผู้ที่ต้องการใช้เครื่องมือดังกล่าว โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยขาดโอกาสฟื้นฟูร่างกาย ดังนั้น คณะนักวิจัยจึงคิดค้นต้นแบบนวัตกรรมที่ผู้พิการสามารถเข้าถึงการฟื้นฟูรักษาได้ในราคาประหยัด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ ๑.อุปกรณ์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก (I-Walk) เกิดจากแนวคิดในการพัฒนาเครื่องช่วยฝึกเดินหรือ Zero-G Trike-Walker ซึ่งเดิมจะอยู่เฉพาะในสถานพยาบาล และสถานกายภาพบำบัด เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาแพง เพราะต้นทุนการนำเข้าเทคโนโลยีกายภาพจากต่างประเทศมีราคาแพงมาก ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเดินทาง ไปใช้อุปกรณ์ดังกล่าวและยังมีปัญหาหลักคือจำนวนอุปกรณ์ไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหานี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงคิดค้น และพัฒนา “นวัตกรรมช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก” (I-Walk) ขึ้น เพื่อขยายโอกาสให้ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถเข้าถึงการทำกายภาพบำบัดได้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อเหตุผลในการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีฟื้นฟูรักษาจากต่างประเทศ เพราะสามารถผลิตได้เองในประเทศด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า เครื่องมือนี้เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่าง ๒ อุปกรณ์ คือ “อุปกรณ์ช่วยจัดท่าทางการเดินของขา” อุปกรณ์เสริมกำลังที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฝึกเดินแบบก้าวขึ้นบันได หรือวิ่งพร้อมกับจัดท่วงท่าการเดินที่เหมาะสม และ “อุปกรณ์ยกตัวผู้ป่วย” อุปกรณ์พยุงน้ำหนักผู้ป่วยเพื่อป้องกันการล้มหรือเข่าทรุดระหว่างการทำกายภาพบำบัด การทำงานของนวัตกรรมนี้ เริ่มจากการให้ผู้ป่วยขึ้นไปยืนบนแท่นฝึกเดิน พร้อมสวมสายรัดพยุงน้ำหนักและจับราวหัดเดินให้กระชับจากนั้นระบบจะฝึกผู้ป่วยให้ก้าวเดินอย่างช้าๆ คล้ายกับการก้าวขึ้นบันไดในลักษณะวงรี ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อขาให้ฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองปัจจุบันโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อพัฒนาและผลิตจริงจำนวน ๑๐ เครื่อง ต้นทุนเครื่องละ ๓๕,๐๐๐ บาท และขยายผลโดยกระจายไปยังสถานพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล ๑๐ แห่ง ๒.อุปกรณ์ช่วยเดินที่สามารถปรับแรงช่วยพยุงได้ (Space Walker) เป็นอุปกรณ์กายภาพบำบัดที่พัฒนามาจากวอล์กเกอร์ หรืออุปกรณ์ช่วยเดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปกรณ์พื้นฐานกายภาพบำบัดเพื่อทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง แต่ที่ผ่านมาอุปกรณ์ดังกล่าวไม่มีระบบพยุงน้ำหนักจึงเกิดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยซึ่งกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะหกล้มขณะฝึกเดิน ซึ่งในต่างประเทศจะมีอุปกรณ์เป็นเครื่องไดนามิกส์ช่วยพยุงน้ำหนักผู้ป่วยขณะเดินตามราง จึงตัดปัญหาการหกล้มได้เบ็ดเสร็จ ดังนั้น จึงได้คิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์ช่วยเดินที่สามารถปรับแรงช่วยพยุงได้ (Space Walker) ขึ้นมาเพื่อช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้แข็งแรงและเพิ่มระบบพยุงน้ำหนักเพื่อป้องกันการหกล้ม รวมทั้งได้พัฒนาเครื่องกายภาพบำบัดให้มีระบบยกน้ำหนักและสามารถนำไปฝึกที่บ้านได้ เนื่องจากการทำกายภาพที่ดีควรฝึกทุกวันจึงจะเพียงพอที่จะฟื้นฟูกล้ามเนื้ออุปกรณ์ดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมชิ้นสำคัญที่จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเนื่องจากราคาไม่แพง ทั้งนี้ได้กำหนดแผนการจัดจำหน่ายสู่ตลาดอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๖๑ ๓.เครื่องออกกำลังกาย ลุก-นั่ง (Sit to Stand) เป็นเครื่องออกกำลังกายและกายภาพบำบัดสำหรับการฝึกลุกยืน โดยเครื่องมือจะช่วยประคองตัวในขณะลุกขึ้นยืนจากท่านั่ง ทั้งยังสามารถประเมินสมรรถภาพการทรงตัวของผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยได้ โดยเครื่องมือนี้ออกแบบตามหลักวิศวกรรมการแพทย์ที่ถูกต้อง โดยผู้ใช้งานสามารถปรับแรงช่วยได้หลายระดับ ตั้งแต่ ๒๕-๗๐% ของน้ำหนักตัว และเก้าอี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสรีระของผู้ใช้เหมาะกับผู้สูงอายุ เครื่องมือนี้จะช่วยในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อเพิ่มความแข็งแรงทั้งส่วนบนและส่วนล่างของร่างกาย และช่วยพัฒนาสมรรถภาพการทรงตัวของร่างกาย ปลอดภัยเนื่องจากมีระบบป้องกันเข่าทรุดและลดแรงกระแทกบริเวณข้อและเข่า สามารถใช้งานและดูแลรักษาง่าย ส่งผลให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยมีสมรรถภาพทางกาย และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ๔.รถเข็นคนพิการแบบปรับยืนได้โดยไม่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า (Manual Standing Wheelchair) สำหรับคนพิการอัมพาตครึ่งล่างสามารถทำกายภาพบำบัดโดยสามารถปรับยืนได้ สามารถถอดประกอบต้นกำลัง สำหรับรถเข็นคนพิการ เพื่อเพิ่มอิสรภาพในการเดินทางให้แก่คนที่ใช้รถเข็น สำหรับคนพิการอัมพาตครึ่งล่างสามารถกลับมายืนได้อีกครั้ง เพื่อการทำกายภาพบำบัดและการใช้ชีวิตประจำวัน รถเข็นคนพิการที่สามารถปรับยืนได้ โดยไม่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อให้ได้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ราคาถูก และง่ายต่อการดูแลรักษา ทั้งนี้ อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาตัวเครื่องให้มีรูปแบบที่สวยงาม และได้เริ่มจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ ๓๐ ตัวต่อ ๓ เดือน ๕.ชุดถอดประกอบรถเข็นคนพิการแบบใช้ไฟฟ้า (Power add on) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ใช้รถวีลแชร์ให้สามารถเคลื่อนที่ได้ในระยะที่ไกลขึ้นโดยที่ไม่รู้สึกเหนื่อย เพียงแค่ออกแรง “บิดคันเร่ง”ผู้ป่วยก็จะสามารถเคลื่อนที่ได้ในระยะที่ไกลขึ้น ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวเป็นชุดถอดประกอบที่มีต้นกำลังเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งติดตั้งอยู่ที่ล้อมีจุดเด่นคือผู้พิการสามารถนำนวัตกรรมมาติดตั้งกับวีลแชร์คันเดิมของผู้ป่วยได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อประกอบแล้วเสร็จจะมีลักษณะคล้ายรถจักรยานสามล้อ พร้อมกันนี้ยังสามารถถอดประกอบ หรือพับเก็บได้ ซึ่งสะดวกต่อการใช้งานและเคลื่อนย้าย นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้ ๑.ในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๑ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงและพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ ให้เหมาะกับการใช้งานมากยิ่งขึ้น ประกอบกับได้นำอุปกรณ์ไปทดลองใช้กับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยและผู้พิการจริงเพื่อนำไปสู่การใช้งานได้จริงและจำหน่ายทั่วไป ๒.ปัจจุบันได้ดำเนินการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาครบถ้วนแล้วในนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๓.อุปกรณ์ที่เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการส่วนใหญ่จะถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์แต่มีระดับความเสี่ยงต่ำ ดังนั้นเงื่อนไขในการควบคุมมาตรฐานกระบวนการผลิตและจัดจำหน่ายจึงอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก และปัจจุบันได้มีการประสานความร่วมมือกันเพื่อกำหนดมาตรฐานเดียวกันของอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประเทศในแถบอาเซียน ๔.ผู้ใช้อุปกรณ์ต้องผ่านกระบวนการคัดกรองสำหรับการใช้อุปกรณ์แต่ละประเภทโดยแพทย์และนักกายภาพบำบัดก่อน เช่น หลังจากป่วยเป็นระยะเวลา ๑ เดือน จึงจะสามารถใช้อุปกรณ์ช่วยเดินได้ เป็นต้น ที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นในประเด็นต่างๆ สรุปได้ดังนี้ ๑.ข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกของไทย คือ เทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกประเภทต่างๆ ยังไม่ได้รับการบรรจุไว้ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาและการรับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ การจัดประเภทให้อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหมด ทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการการผลิตและพัฒนา นอกจากนี้ ยังทำให้มีราคาสูงขึ้นด้วย ๒.ภาครัฐควรเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งให้การสนับสนุนคณะผู้วิจัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับต่างประเทศที่อยู่ในสภาวการณ์คล้ายกัน เช่น ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาต่อยอดอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ๓.ควรผลักดันให้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการจัดซื้อ จัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ ให้เหมาะสมเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยในการขับเคลื่อนการผลิตและจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งควรผลักดันให้ถูกบรรจุให้อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย ๔.ควรปรับปรุงและพัฒนาอุปกรณ์ให้สามารถใช้งานง่าย ราคาไม่สูงมาก สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายและดูแลรักษา ตลอดจนการซ่อมแซมเพื่อให้ผู้ใช้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนสามารถเข้าถึงชุมชนได้อย่างทั่วถึง ๕.ควรต้องคำนึงถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือ Product Liability ที่มา : http://www.naewna.com/lady/columnist/32172
0 Comments
Leave a Reply. |
|
HoursM-F: 7am - 7pm
|
Telephone+66-(0)-2564-3001 ถึง 9 ต่อ 3247
|
|