'สเปซ วอล์คเกอร์' (Space Walker) นวัตกรรมทางการแพทย์จากนักศึกษาปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “สเปซ วอล์คเกอร์” (Space Walker) อุปกรณ์กายภาพบำบัดผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง นวัตกรรมทางการแพทย์จากนักศึกษาปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้าชนะเลิศการออกแบบ “นวัตกรรมสำหรับบ้านผู้สูงอายุ” ตั้งเป้า ต.ค.2561 ออกสู่ตลาดอย่างเป็นทางการผ่านช่องทางออนไลน์และตัวแทนจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ “อุปกรณ์กายภาพบำบัดในประเทศไทยยังขาดแคลน ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าในราคาแพง หากสามารถพัฒนาและผลิตในประเทศได้จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่ายขึ้นในราคาไม่แพง ทั้งสร้างรายได้เข้าประเทศในอนาคต ยกตัวอย่าง ผลงานสเปซวอร์คเกอร์ของเมืองนอกราคาหลักแสน แต่เมื่อนำมาดัดแปลงให้เหมาะกับคนไทย ราคาลดลงเหลือไม่กี่หมื่นเท่านั้น” วรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร ผู้ร่วมพัฒนาสเปซ วอล์คเกอร์ กล่าว ฟื้นฟูกล้ามเนื้ออ่อนแรง วอล์คเกอร์ช่วยเดินเป็นหนึ่งในอุปกรณ์พื้นฐานกายภาพบำบัดเพื่อทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง แต่ปัญหาที่พบคือ อุปกรณ์ไม่มีระบบพยุงน้ำหนัก จึงเกิดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยซึ่งกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะหกล้มขณะทำการฝึกเดิน ในต่างประเทศมีอุปกรณ์เป็นเครื่องไดนามิกส์ช่วยพยุงน้ำหนักผู้ป่วยขณะเดินตามราง จึงตัดปัญหาการหกล้มได้เบ็ดเสร็จวรัตถ์ และกลุ่มเพื่อน เกิดแนวคิดในการพัฒนาเครื่องกายภาพบำบัดที่มีระบบยกน้ำหนักและสามารถนำไปฝึกที่บ้านได้ เนื่องจากการทำกายภาพที่ดีควรฝึกทุกวัน โอกาสจะหายเร็วขึ้นแทนที่จะรอใช้บริการของโรงพยาบาล สัปดาห์ละ 3 ครั้งซึ่งไม่เพียงพอที่จะฟื้นฟูกล้ามเนื้อ การออกแบบเครื่องนี้ได้ทำงานร่วมกับภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ เพื่อให้อุปกรณ์กายภาพบำบัดผู้ป่วยสูงวัยที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงออกมามีความสมบูรณ์รอบด้าน “เราคิดหาไอเดียที่แตกต่างด้วยการเสิร์ชหาข้อมูลจำนวนมากในการพัฒนาระบบให้ใช้งานง่าย พร้อมกับสร้างเครื่องต้นแบบและทำการทดสอบผู้ป่วยหลากหลายเคส เช่น ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบ ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ผู้ป่วยข้อเข่าอักเสบ ผู้ที่มีอาการสมองพิการมาแต่กำเนิดและผู้ที่ไขสันหลังบาดเจ็บ เป็นต้น” วรัตถ์ กล่าว จากการทดสอบเปรียบเทียบกับวอล์คเกอร์ช่วยเดินทั่วไปพบว่า ผู้ป่วยไม่กล้าเดินออกนอกบ้านด้วยวอล์คเกอร์เพราะกลัวล้ม แต่เมื่อได้ลองใช้สเปซวอล์คเกอร์ก็สามารถเดินได้โดยไม่กังวลการล้ม ทำให้กล้าฝึกเดินมากขึ้น กลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้ที่ผ่านการฝึกกายภาพบำบัดมาแล้วแต่ขาไม่มีแรง สามารถใช้สเปซวอล์คเกอร์ช่วยในการออกกำลังกาย แทนที่จะนั่งหรือนอนทั้งวันจนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง วรัตถ์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะทำการทดสอบในผู้ป่วยและเก็บข้อมูลอย่างเป็นทางการ เพื่อประกอบการทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มาตรฐานไอเอสโอ ส่วนต้นทุนเครื่องต้นแบบประมาณ 4 หมื่นบาทต่ำกว่าเครื่องนำเข้า 30 เท่าแต่ประสิทธิภาพการใช้งานเหมือนกัน ส่วนแผนการต่อไปจะพัฒนาเตียงลดแผลกดทับที่สามารถปรับทั้งซ้ายขวาและปรับนอน/ยืนได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึงเครื่องมือกายภาพได้ง่ายขึ้น จากที่ของนำเข้าที่ใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมดในราคาหลักแสน เมื่อนำมาปรับใช้เป็นระบบแมนนวลราคาจะลดลงเหลือหลักหมื่นเท่านั้น เวทีสร้างคนสตาร์ทอัพ สำหรับโครงการประกวด ITCi Award 2017 โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับ Autodesk Thailand เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพในการผลิตนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงวัย รวมทั้งเป็นการผลักดันให้เกิดการสร้างเครือข่ายและกิจกรรมภายในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) เพื่อให้เป็นโค-เวิร์คกิ้งสเปซ โดยเฉพาะในส่วนของ ITC-innovate ที่รวบรวมเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับการผลิตชิ้นงานต้นแบบเชิงอุตสาหกรรม เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการและผลักดันประเทศไทยให้เกิดโอกาสทางธุรกิจทั้งในประเทศและตลาดโลก ผลงานชนะเลิศได้รับเงินรางวัลมูลค่า 2 แสนบาทและได้ไปทัศนศึกษาที่ญี่ปุ่น ทางคณะกรรมการพิจารณาเห็นความโดดเด่นของผลงาน และต้นแบบมีความสมบูรณ์พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้ ก่อนหน้านี้ก็ได้รับรางวัลเหรียญทองจากเวทีการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ i-CREATe 2017 ประเทศญี่ปุ่น ส่วนรางวัลที่ 2 ผลงาน Sit to Stand เครื่องมือช่วยออกกำลังกายและกายภาพบำบัดสำหรับการฝึกลุกยืน และรางวัลที่ 3 ผลงานนวัตกรรมหุ่นยนต์เคลื่อนที่สำหรับอยู่เป็นเพื่อนผู้สูงอายุ หนังสือพิมพ์ : กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันอังคารที่ 19 กันยายน 2560
0 Comments
Leave a Reply. |
|
HoursM-F: 7am - 7pm
|
Telephone+66-(0)-2564-3001 ถึง 9 ต่อ 3247
|
|