ข้อมูลจากองค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization: WSO) รายงานสถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองทั่วโลก ว่า ทุกๆ 6 วินาที ทั่วโลกจะมีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน จากโรคหลอดเลือดสมอง และเป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับ 2 ของประชากรอายุมากกว่า 60 ปีทั่วโลก สำหรับประเทศไทย จำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทยมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติพบว่ามีอัตราการเกิดโรค 690 คนต่อประชากร 1 แสนคน ทำให้ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทยประมาณ 5 แสนคน และผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคนี้อีกประมาณไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน โดยภาวะที่ตามมาหลังการป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง คือ การเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องได้รับการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้ร่างกายกลับมาเป็นเหมือนเดิม ปัญหาใหญ่ก็คือ การขาดแคลนนักกายภาพบำบัด และอุปกรณ์ในการทำกายภาพบำบัด ทำให้โอกาสการฟื้นฟูลดน้อยลง ด้วยเหตุดังกล่าว ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.พัชรี คุณค้ำชู จากภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทีมงานซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาในภาควิชา คือ นายธีรพงศ์ สมุทรอัษฎงค์, น.ส.พัสตาภรณ์ เสือสา, น.ส.ฐิติภา สุวรรณชาศรี, นายเชาว์วุฒิ จักรเพชร และ นายชัยพร นันทกิจ จึงได้ร่วมกันออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตครึ่งซีก ที่เรียกว่า I-walk ขึ้น เพื่อรองรับการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ทั้งจากอัมพฤกษ์ อัมพาต อุบัติเหตุ ไปจนถึงการเสื่อมสภาพของร่างกายและปัญหาเกี่ยวกับโรคต่าง
ที่ผ่านมา อุปกรณ์ในการช่วยฝึกเดิน หรือทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ถือว่ามีราคาแพง และส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ อย่างเช่น หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโลโคแมต ราคาต่อเครื่องประมาณ 17 ล้านบาท ทั้งประเทศมีอยู่แค่ 3 เครื่อง ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ทำให้โอกาสที่ผู้ป่วยจะได้ใช้อุปกรณ์เพื่อทำกายภาพบำบัด ฟื้นฟูสภาพให้กลับมาเหมือนเดิม รวมถึงได้ทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง เป็นไปได้ยากมาก ทั้งๆที่เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผูป่วย I–walk เป็นอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นจากการเปลี่ยนรูปแบบของระบบโรโบติกแบบโลโคแมต มาเป็นการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน 2 ตัว คือ อุปกรณ์สำหรับยกตัวผู้ป่วย และอุปกรณ์ช่วยจัดท่าทางการเดินของขา ซึ่งมีการใช้โครงสร้างของเครื่องออกกำลังกายแบบ Elliptical ที่พัฒนาและปรับปรุงการเคลื่อนที่ให้เหมือนมนุษย์ และใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยในการส่งกำลังในการขยับขาผู้ป่วยให้สามารถเคลื่อนที่ได้ ผลการทดสอบอุปกรณ์ต้นแบบ พบว่า อุปกรณ์สามารถสร้างเส้นทางการเดินได้ตามที่ออกแบบไว้ และสามารถกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อขาได้ การใช้งานเครื่อง I-walk เริ่มจากการประกอบเครื่องยกผู้ป่วยกับเครื่องจัดท่าทางการเดินเข้าด้วยกันโดยผ่านตัวล็อก และติดตั้งทางลาดยกระดับ จากนั้นนำผู้ป่วยขึ้นรถเข็นคนพิการพร้อมกับใส่ชุดช่วยพยุงไปขึ้นทางลาดยกระดับ พร้อมกับติดตัวล็อกเข็มขัดนิรภัยของตัวชุดช่วยพยุงเข้ากับตัวเครื่องยกผู้ป่วย ทำการยกผู้ป่วยขึ้นจากตัวรถเข็นคนพิการ พร้อมทั้งนำรถเข็นคนพิการออกจากตัวเครื่อง จัดท่าทางและตำแหน่งของผู้ป่วยให้เข้ากับตำแหน่งของเครื่องจัดท่าทางการเดิน เปิดเครื่องจัดท่าทางการเดิน ปรับระดับความเร็วได้ตามความเหมาะสมและกำลังของผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยบางรายมีภาวะอัมพาตที่ไม่สามารถทรงตัวได้ จำเป็นต้องมีนักกายภาพบำบัดช่วยประคองก่อนในเบื้องต้น และปรับระดับความเร็วแบบช้าๆ ก่อนค่อยเร่งสปีดให้เร็วขึ้น และเนื่องจากแนวคิดในการออกแบบอุปกรณ์ชิ้นนี้ เน้นที่จะให้คนส่วนใหญ่ในประเทศสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ทั้งในด้านราคา การใช้งาน และประสิทธิภาพของเครื่อง ต้นทุนในการผลิตจึงไม่สูงมากนัก โดยปกติอุปกรณ์แบบ Lokomat นั้น ต้นทุนราคาต่อเครื่องกว่า 100,000 บาท แต่ “I-walK” มีต้นทุนในการสร้างอุปกรณ์อยู่ที่ประมาณ50,000 บาทเท่านั้น และในอนาคตมีแนวคิดที่จะลดต้นทุนในการผลิตลง เพื่อเพิ่มโอกาสในการซื้อเครื่องกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกได้ทั่วถึงมากขึ้น โดยวางแผนต่อยอดพัฒนาอุปกรณ์ให้เครื่องยกผู้ป่วยกับเครื่องจัดท่าทางการเดินยึดติดเข้าด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการใช้งานมากยิ่งขึ้นต่อไป http://www.thairath.co.th/column/life/smartlife/325385
1 Comment
นายสุชาติ วชิริวทยากร
6/25/2019 01:50:03 pm
สอบถามการใช้งานเครื่องครับ 093-1789-915
Reply
Leave a Reply. |
|
HoursM-F: 7am - 7pm
|
Telephone+66-(0)-2564-3001 ถึง 9 ต่อ 3247
|
|