1 ใน 10 ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ที่รัฐบาลส่งเสริม คือ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ที่มีความสำคัญทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ร่วมคิดค้นสร้างผลิตภัณฑ์ “Space Walker” อุปกรณ์กายภาพบำบัด สำหรับผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดหรือกลุ่มผู้สูงอายุ“Space Walker” พัฒนาโดย ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทีมประกอบไปด้วย วรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล รมย์ พานิชกุล วิศวกรรมเครื่องกล เมธาสิทธิ์ เกียรติชัยภา วิศวกรรมเครื่องกล และธันยพร วงศ์วัชรานนท์ กายภาพบำบัด โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เข้ามาทำหน้าที่ในการช่วยผู้ป่วยที่กำลังฝึกกายภาพบำบัด หลังจากผ่าตัด ถือเป็นอุปกรณ์แบบใหม่ที่ยังไม่มีในประเทศไทย “วรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร” เปิดเผยว่า แนวคิดการพัฒนามาจากการที่ได้เรียน จึงสนใจสร้างอุปกรณ์สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่หลังจากผ่าตัด จะมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อและจำเป็นต้องฝึกเดิน โดยอุปกรณ์จะช่วยแบ่งเบาภาระ ช่วยพยุงน้ำหนักในระหว่างการเดิน และช่วยป้องกันการหกล้ม อีกทั้งอุปกรณ์ยังเข้ามาช่วยแก้ปัญหาผู้ที่มีปัญหา กล้ามเนื้ออ่อนแรงในกลุ่มผู้สูงอายุ สำหรับช่วยฝึกเดินได้ด้วย สำหรับ Space Walker ที่มีนวัตกรรมและมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยี จึงได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ “ITCi Award” ปีที่ผ่านมา หัวข้อ “นวัตกรรมสำหรับบ้านผู้สูงวัย” จัดโดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน สถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ Autodesk Thailand ต่อมาได้รับรางวัลเหรียญทองประเภทผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ จากการประกวด โครงการสิ่งประดิษฐ์งานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 11 (i-CREATe) ปีที่ผ่านมา จัดที่ประเทศญี่ปุ่น
วรัตถ์ กล่าวต่อว่า ตนเองได้เรียนจบจากคณะแล้ว และกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ Space Walker ออกมาสู่การทำตลาดอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ พร้อมกันนี้ยังได้รับการส่งเสริมทุนวิจัยจากภาคเอกชนเพื่อต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ถือว่ามีความแตกต่างจากอุปกรณ์ของต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่และมีการทำงานซับซ้อน แต่อุปกรณ์ของเราได้ออกแบบให้ใช้งานอย่างสะดวก และเป็นผลดีต่อผู้ป่วย อีกทั้งมีราคาที่ต่ำกว่าต่างประเทศ คาดว่าจะมีราคาไม่เกิน 5 หมื่นบาท ส่วนต่างประเทศราคาสูงระดับหลายล้านบาท และมีขนาดใหญ่ รวมถึงในต่างประเทศเริ่มมีอุปกรณ์ออกมาประมาณหนึ่งปีเท่านั้น กลุ่มเป้าหมายจะเป็นทั้งโรงพยาบาล หรือกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์เองในบ้าน เพื่อลดปัญหาการเดินทางมายังโรงพยาบาลเพื่อทำกายภาพบำบัด รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่าย “แรงบันดาลใจที่อยากสร้างอุปกรณ์มาจากการที่ได้เรียนในภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล จึงอยากสร้างอุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เกิดผลกระทบในเชิงกว้าง” วรัตถ์ กล่าว วรัตถ์ กล่าวต่อว่า การผลักดันอุปกรณ์สู่เชิงพาณิชย์ ถือเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพด้านเฮลธ์เทค ที่ตนเองมีความสนใจสร้างอุปกรณ์ใหม่สู่ตลาด 1 รายการ/ปี มีเป้าหมายจะสร้างอุปกรณ์ที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้ง่าย ใช้งานได้สะดวก พร้อมเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยหายได้รวดเร็วขึ้น รวมถึงช่วยตอบโจทย์ความต้องการของคนในประเทศ
1 Comment
นายคณุตม์ เจียมจริยธรรม
2/20/2020 05:00:25 pm
เนื่องจากแม่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ต้องไปฟอกไตอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ต้องอุ้มขึ้น-ลงรถตลอดเวลา ซึ่งทำให้ลำบากมากเวลาอุ้มขึ้นรถ พอมาเห็นอุปกรณ์ยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขึ้นลงรถยนต์ของทางมหาวิทยาลัยฯ แล้ว เห็นว่าน่าจะใช้งานได้ดี และไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดการบาดเจ็บ ดังนั้นหามีทำขายไม่ทราบว่าราคาอยู่ที่เท่าไหร่ หากไม่ได้ทำขายผมจะขอแบบได้หรือไม่ จะได้ไปจ้างช่างทำอีกครั้ง กรุณาตอบให้ผมทราบด้วยครับ
Reply
Leave a Reply. |
|
HoursM-F: 7am - 7pm
|
Telephone+66-(0)-2564-3001 ถึง 9 ต่อ 3247
|
|