“งานวิจัยยุคใหม่ต้องไม่ใช่เพียงเพื่อตอบโจทย์การสร้างฐานความรู้เท่านั้น หากต้องสามารถส่งเสริมการพัฒนาประเทศได้ด้วย” จบไปอีกหนึ่งงานเสวนาสำคัญอย่าง YPIN Talk Series ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว มาแลกเปลี่ยนเรื่องนวัตกรรมและการสร้างแผนธุรกิจ เสริมด้วย รศ.ดร.จิรพล จิยะจันทร์ ในประเด็นการนำพางานวิจัยบนหิ้งไปต่อยอดเพื่อการค้าหรือตอบโจทย์ความต้องการสังคม ผ่านมุมมองการทำงานแบบ Start Up ปิดท้ายด้วยกรณีตัวอย่างงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพาณิชย์ได้ของ ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ งานวิจัย นวัตกรรม และการพัฒนาต่อยอดสู่การทำธุรกิจ
ดร.สุทธิกร เริ่มการพูดคุยด้วยคำถามที่น่าสนใจว่า “ในโลกแห่งความเป็นจริงทุกคนคิดว่าเรามีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นหรือไม่” ที่มาของคำถามนี้เกิดขึ้นจากการที่อาจารย์พยายามวิเคราะห์และตีความความหมายของคำว่านวัตกรรม ซึ่งมักถูกอธิบายว่าหมายถึงการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา แต่อาจารย์กลับมองว่าเรากำลังให้ความหมายกับคำนี้แบบผิด เพราะในความเป็นจริงมันไม่มีสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นมาด้วยตัวเอง หากแต่เป็นการต่อยอดจากสิ่งเดิมขึ้นมา โดยพื้นฐานการสร้างนวัตกรรมจึงเป็นการต่อยอดไม่ใช่การสร้างสิ่งใหม่ ยิ่งไปกว่านั้นอาจารย์ย้ำว่านวัตกรรมที่ดีนอกจากต่อยอดแล้ว ยังต้องสร้างความแตกต่าง และตอบโจทย์อีกด้วย ซึ่งอาจารย์มองว่าปัจจัยความสำเร็จของการนำงานวิจัยสู่การพัฒนาประเทศนั้น คือความสามารถในการตอบโจทย์สังคมของงานวิจัย โดยปกติงานวิจัยส่วนใหญ่สร้างความแตกต่างโดยตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ปัญหาคืองานวิจัยจำนวนมากไม่ตอบโจทย์ความเป็นจริงของสังคม ปัจจัยนี้ส่งผลให้งานวิจัยจำนวนมากไม่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ในเชิงการพัฒนา อาจารย์จึงเสนอว่านวัตกรรมหรืองานวิจัยรูปแบบใหม่นอกจากจะสร้างความแตกต่างแล้ว ยังควรตอบโจทย์สังคมและการใช้ชีวิต ซึ่งจะสามารถต่อยอดสู่การทำธุรกิจได้ ทั้งนี้อาจารย์ให้ภาพกว้างของการทำธุรกิจจากฐานงานวิจัยไว้ตามแนวคิดสำคัญ ๆ คือ อย่างแรกสิ่งที่ต้องการเสนอขายต้องสามารถทำกำไรได้และปรับตัวได้ มีการสร้างเครือข่ายเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ มีขนาดโครงสร้างที่เล็ก และมีความยืดหยุ่น ในขณะเดียวกันคุณภาพสินค้าหรือนวัตกรรมที่นำเสนอต้องตอบโจทย์จุดสนใจ มีการบริการที่ดี มีช่องทางการค้าที่เหมาะสม และสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้า สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับนักวิจัยที่ต้องการขับเคลื่อนงานวิจัยของตนเองในเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการตั้ง Start Up สุดท้ายอาจารย์ปิดการบรรยายด้วยเรื่องการจัดทำแผนธุรกิจ (Business plan) อาจารย์มองว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะหากแผนธุรกิจยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ การผลักดันนวัตกรรมหรืองานวิจัยในเชิงพาณิชย์จะประสบความสำเร็จได้ยาก โดยนักวิจัยที่อยากผันตัวเป็นนักธุรกิจต้องรู้ให้ได้ว่าลูกค้าคือใคร เรากำลังขายอะไร และอะไรคือรูปแบบธุรกิจที่เรามุ่งหวัง สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และจะช่วยให้การสร้างธุรกิจจากฐานการวิจัยประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น จากงานวิจัยขึ้นหิ้งสู่การค้าเชิงพาณิชย์ รศ.ดร.จิรพล ได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นการต่อยอดงานวิจัย โดยหัวข้อที่อาจารย์หยิบขึ้นมาพูดคุยกับผู้ร่วมวงสนทนาคือ “From Shelf to Shop” โดยเน้นการทำงานกับ Start Up ในแผนบูรณาการการวิจัย อาจารย์ได้เปิดเผยงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับผู้ประกอบการ Start Up ว่าคนไทยมีความเข้าใจผิดว่าการทำธุรกิจรูปแบบนี้ต้องเป็นกลุ่มคนอายุน้อย ๆ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงผลการศึกษาผมว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมีอายุเฉลี่ยที่ 40-45 ปี ฉะนั้นทุกคนยังสามารถตั้ง Start Up ของตนเองจากฐานงานวิจัยได้ อายุไม่ใช่ขีดจำกัด อาจารย์อธิบายภาพเกี่ยวกับ Start Up ไว้อย่างน่าสนใจว่ามีกระบวนการไม่ได้แตกต่างมากนักจากกระบวนการทำวิจัย โดยเริ่มต้นจากการมีแนวคิดหรือแรงบันดาลใจของผู้ก่อตั้ง จากนั้นเราต้องมาคิดว่าแนวคิดของเรามีใครทำไปแล้วหรือยัง ก็เหมือนการทบทวนวรรณกรรม เพื่อให้เราทราบว่าเราจะทำอะไรที่จะเสนอสิ่งใหม่ ๆ ให้กับตลาด หรือสังคม ซึ่งนี่เป็นจุดต่างสำคัญระหว่างงานวิจัยขึ้นหิ่งกับงานวิจัยขึ้นห้าง เพราะงานวิจัยขึ้นหิ่งอาจมีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดเหมือนกันกับงานวิจัยขึ้นห้าง แต่ผลสุดท้ายงานวิจัยขึ้นหิ่งไม่สามารถตอบโจทย์สังคมและตลาดได้ ส่งผลให้งานจำนวนนี้ไม่สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อสังคมและเศรษฐกิจ อาจารย์ระบุว่าในปัจจุบันนักวิจัยในมหาวิทยาลัยต้องหนีห่างจากงานวิจัยขึ้นหิ่งมาสู่งานวิจัยขึ้นห้างให้มากยิ่งขึ้น เพราะโจทย์การพัฒนาประเทศจากฐานการวิจัยกำลังเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล ฉะนั้นแนวโน้มการให้ทุนการวิจัยจึงปรับทิศทางใหม่ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการทำวิจัยต้องมุ่งเน้นการพาณิชย์เท่านั้น อาจารย์ระบุว่าหากเราสามารถผลิตนวัตกรรมหรืองานวิจัยที่สามารถสร้างผลกระทบต่อคนวงกว้างได้ก็สามารถนำไปสู่การสร้างรายได้ได้เช่นกัน อาจารย์ยกตัวอย่างบริษัท Rubicon ที่มีจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาขยะบนฐานงานวิจัย นำมาซึ่งการสร้างรายได้จำนวนมหาศาล อาจารย์ปิดการบรรยายได้อย่างน่าสนใจว่าปัจจุบันงานวิจัยเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นของประเทศไทยที่สามารถนำไปขายได้ ฉะนั้นการเบนทิศทางงานวิจัยสู่การพัฒนาจึงเป็นเรื่องจำเป็น แต่ไม่จำเป็นว่าต้องวางอยู่บนฐานของกำไรเท่านั้น อาจมุ่งทำงานวิจัยที่ตอบสนองสังคมเป็นวงกว้างก็ได้ เพราะสุดท้ายผลประโยชน์ทางพาณิชย์จะติดตามมาเอง จากงานวิจัยสู่การสร้างธุรกิจเพื่อสังคม ผศ.ดร.บรรยงค์ เริ่มบทสนทนาด้วยการพูดคุยเรื่องเกี่ยวกับแรงบันดาลใจของตนเอง ซึ่งอาจารย์มองว่านี่ถือเป็นจุดสำคัญที่หลายคนมองข้ามไป ส่งผลให้การทำงานของหลายคนขาดความหมาย อาจารย์มองว่าชีวิตแต่ละคนก็เหมือนละครที่ตัวเองเป็นพระเอกหรือนางเอก เราล้วนอยากทำสิ่งดี ๆ ที่มีความหมายกับชีวิต สำหรับอาจารย์การสร้างนวัตกรรมและการวิจัยที่สามารถสร้างประโยชน์ให้สังคมก็คือหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของตนเอง อาจารย์กล่าวว่า “ผมอยากมีความรู้สึกที่ว่าพอเกษียณไปแล้ว ผมสามารถตอบตัวเองได้ว่าผมสร้างอะไรให้สังคมไว้บ้าง” นี่นำมาสู่การทำวิจัยด้านการพัฒนานวัตกรรมของอาจารย์และนักศึกษาในที่สุด อาจารย์เกริ่นว่าช่วงที่อาจารย์และทีมทำวิจัยนั้น ไม่ได้มองเลยว่าจะทำมันออกมาเพื่อการพาณิชย์แต่อยากทำงานที่มันได้ใช้ ได้ช่วยคน เหมือนกับว่าพอเราติดกระดุมถูกเม็ด สิ่งถูกต้องดีงามมันก็ตามมาเอง และสุดท้ายงานมันก็ขายได้ด้วยตัวมันเอง ทั้งนี้อาจารย์ระบุว่าแต่ก่อนต้องเผชิญปัญหาหลายอย่างมากในการผลิตงานด้านนวัตกรรมในสถาบันการศึกษา เพราะของพวกนี้ไม่มีคะแนน ส่งผลให้อาจารย์ไม่ได้มีผลงานตามระเบียบที่กำหนดไว้ว่าต้องผลิตผลงานวิจัยตีพิมพ์ แต่อาจารย์ไม่เคยย่อท้อ ซ้ำยังบอกกับนักวิจัยรุ่นใหม่เสมอว่าควรจะทำงานนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคมด้วย อย่ามัวแต่นั่งทำงานที่เหมือนคนอื่น แล้วไม่ตอบโจทย์อะไรในชีวิต ปัจจุบันงานนวัตกรรมได้รับการยอมรับและถูกคิดคำนวณเป็นคะแนนด้านวิชาการมากยิ่งขึ้น เมื่อบรรยายถึงจุดนี้อาจารย์ก็พาผู้ร่วมวงสนทนามายังงานวิจัยและนวัตกรรมที่ศูนย์แห่งความเป็นทางวิชาการด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ดำเนินการไปแล้วและกำลังดำเนินการอยู่ อาจารย์ระบุว่าการทำงานวิจัยหลักของศูนย์นี้คือมุ่งเน้นการทำงานแบบสหวิทยาการคือเน้นประยุกต์ความรู้ระหว่างศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อออกแบบทางวิศวกรรมในการแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งศูนย์นี้ของอาจารย์สามารถผลิตนวัตกรรมต้นแบบและสามารถนำไปใช้ได้จริงหลากหลายชิ้น ทั้งเครื่องฝึกเดินสำหรับคนพิการ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง รถเข็นคนพิการแบบปรับยืน อุปกรณ์ช่วยเดินแบบพยุงน้ำหนักบางส่วนสำหรับผู้ที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวด้านการเดิน EZ Stand Walker เป็นต้น สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่กล่าวมาข้างต้นปัจจุบันมีการนำไปใช้งานจริงและมีการต่อยอดในเชิงพาณิชย์โดยกลุ่มนักศึกษาผู้ออกแบบและสร้างสรรค์นวัตกรรมดังกล่าว ทั้งนี้อาจารย์มองว่าปัจจัยใหญ่ที่ทำให้การวิจัยและสร้างนวัตกรรมประสบความสำเร็จในการต่อยอดคือการออกแบบการเรียนรู้บนพื้นฐานของโครงการและการทำงานแบบข้ามสาขา เพื่อเสริมสร้างความกว้างขวางด้านการทำงานให้กับนักศึกษาและผู้วิจัยเอง ปัญหาใหญ่ของนักวิจัยไทยในปัจจุบันคือการปิดกั้นตัวเองอยู่เฉพาะในสาขาตัวเอง ซึ่งในบางครั้งมันไม่สามารถแก้ไขปัญหาในเชิงปฏิบัติได้ อาจารย์เน้นว่าแม้ทิศทางการพัฒนางานวิจัยจะเน้นเพื่อการค้ามากขึ้นแต่เป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยคือการสร้างบุคลากร ฉะนั้นเราต้องสร้างบุคลากรที่จะออกไปสร้างนวัตกรรมและงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้ขาดไม่ได้ และก็คือเป้าหมายหลักของการทำงานวิจัยของอาจารย์ สุดท้ายอาจารย์ปิดการพูดคุยของงานด้วยการระบุถึงปัญหาการต่อยอดงานวิจัยสู่การพาณิชย์ อาจารย์ระบุว่าการวิจัยและพัฒนา ยังคงเป็นคำที่มีปัญหาในตัวเอง เพราะต้องยอมรับว่าในปัจจุบันมีน้อยคนมากที่จะเป็นทั้งนักวิจัยและนักพัฒนาในตัวเอง ฉะนั้นอาจารย์มองว่ามันยังมีตัวเชื่อมระหว่างสองคำนี้ที่สำคัญคือการสร้างสรรค์ การออกแบบ และการบริหาร ซึ่งจะช่วยให้สิ่งเหล่านี้ผลักดันให้งานวิจัยและนวัตกรรมสามารถเปลี่ยนสู่การพาณิชย์ได้
0 Comments
Leave a Reply. |
|
HoursM-F: 7am - 7pm
|
Telephone+66-(0)-2564-3001 ถึง 9 ต่อ 3247
|
|