อาจารย์และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างรถเข็นคนพิการปรับยืนได้โดยไม่ใช้ไฟฟ้า ซึ่งได้รับการพัฒนาจนสามารถนำไปใช้งานได้จริงทั้งนี้ผลงานการสร้าง รถเข็นคนพิการปรับยืนได้โดยไม่ใช้ไฟฟ้า เป็นฝีมือของ ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองบุญ และ 3 นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ “ธาริน อรรถจริยา, ณัฐพล กัณหาบัว, ศุภลักษณ์ โคบุตรี” แนวคิดในการออกแบบนั้น ผศ.ดร.บรรยงค์ กล่าวว่ามาจากการเกิดอุบัติเหตุแล้วพบว่าสถิติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน และผลจากอุบัติเหตุทำให้เกิดความพิการจากการสูญเสียอวัยวะ หรือสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว อาทิ การเป้นอัมพาตตั้งเเต่ช่วงเอวลงไป “แม้ว่าผู้ประสบอุบัติเหตุจะได้รับการรักษาบาดแผลแล้ว แต่ความพิการยังคงอยู่นั่นคือเขาไม่สามารถจะกลับมายืนได้เหมือนเดิม ทำให้สูญเสียในการทำงาน การประกอบอาชีพ และที่สำคัญคือส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ เพราะความพิการเป็นภาระแก่ผู้ดูแล ดังนั้นรถเข็นคนพิการแบบปรับยืนได้จึงเป็นอีกหนึ่งทางออกที่จะช่วยให้ผู้พิการสามารถกลับมาดำรงชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติ” ผศ.ดร.บรรยงค์กล่าว อย่างไรก็ตามรถเข็นคนพิการเเบบปรับยืนได้ที่ผลิตจากต่างประเทศมี 2 แบบคือแบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้าปรับจากการนั่งเป็นการยืน และแบบใช้แรงของผู้พิการเอง ซึ่งในแบบที่ใช้แรงคนพิการปรับเองนั้นราคาจำหน่ายอยู่ที่ 150,000 – 300,000 บาท และถ้าเป็นระบบมอเตอร์ไฟฟ้าจะมีราคาสูงกว่านี้ อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสูงเพราะต้องนำชิ้นส่วนเข้าจากต่างประเทศ ผศ.ดร.บรรยงค์กล่าวว่าเมื่อราคาของต่างประเทศสูงจึงเป็นที่มาของการออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์สำหรับคนพิการ นั่นก็คือรถเข็นคนพิการที่สามารถปรับยืนได้ โดยไม่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อให้ได้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ราคาถูก ง่ายต่อการดูแลรักษา และเหมาะกับการใช้งานในประเทศไทย ซึ่งใช้ต้นทุนประมาณ 1.5-1.6 หมื่นบาท ส่วนหลักในการทำงานนั้น ทางทีมผู้ออกแบบได้ออกแบบกลไกและขนาดกระบอกสูบเเก๊ส เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้แรงจากแขนเพียงเล็กน้อยสำหรับการยกตัวเองจากท่านั่งเป็นท่ายืน โดยใช้แนงจากกระบอกสูบแก๊สเป็นตัวเสริมแรง “กลุ่มเป้าหมายที่ได้ประโยชน์จากผลงานนี้มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1.คนพิการที่ประสบปัญหาเดินไม่ได้ (อัมพาตครึ่งท่อนล่าง) แต่ยังมีแรงแขนปกติ 2.คนพิการหรือผู้ป่วยที่ต้องทำกายภาพบำบัดในท่ายืน ซึ่งผู้ดูแลสามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์อื่นๆ ช่วย และยังสามารถเข็น เพื่อเปลี่ยนสถานที่ในการทำกายภาพได้ ส่วนประโยชน์จากการที่ผู้พิการหรือผู้ป่วยจะได้จากการยืนนั้นเเยกออกเป็น 3 ข้อ คือ 1. ด้านสุขภาพกาย การใช้รถเข็นเพื่อช่วยยืนในการทำกายภาพบำบัดนั้น เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งเป็นยืน ก็เป็นการช่วยลดปัญหาทางสุขภาพของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบรรเทาแรงกดทับที่เกิดขึ้นบริเวณข้อต่อ การทำให้ไตและระบบกระเพาะปัสสาวะทำงานได้ปกติ การเพิ่มระบบการไหลเวียนโลหิต ฯลฯ 2. ด้านสุขภาพใจและสังคม ทำให้ผู้พิการสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยืนได้ใกล้เคียงกับคนปกติ เช่นการยืนเพื่อพูดคุยกับคนอื่น ฯลฯ ซึ่งผู้พิการจะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างมากนักเมื่อเทียบกับคนปกติ 3. ด้านเศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มความสามารถในการประกอบอาชีพ และลดภาระการช่วยเหลือจากสังคม ที่มา : http://www2.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9500000149785&TabID=3&
0 Comments
|
|
HoursM-F: 7am - 7pm
|
Telephone+66-(0)-2564-3001 ถึง 9 ต่อ 3247
|
|